๑.ตัวละคร
-ประพันธ์ คือ ตัวแทนชายหนุ่มไทยที่ไปศึกษาที่ต่างประเทศและได้ประทับใจในวัฒนธรรมของต่างประเทศอีกทั้งยังเปรียบ “รักไทยเหมือนพ่อแม่ รักเมืองอังกฤษเหมือนรักเมีย”เมื่อพบอุไรสาวไทยผู้ทันสมัยมีแนวคิดและมีค่านิยมแบบตะวันตกเต็มที่ประพันธ์จึงดูจะมีความสุขมากขึ้น และทั้งสองได้มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด จนอุไรตั้งครรภ์จึงต้องแต่งงานกันโดยเร็ว เวลาผ่านไปประพันธ์ได้รู้ว่าเข้าและอุไรไม่เหมาะสมกันและทั้งคู่ได้หย่ากัน ทำให้ประพันธ์ได้คิดว่า “ผู้หญิงที่เหมาะสมกับเขานั้นไม่ใช่ผู้หญิงที่คร่ำครึอย่างแม่กิมเน้ย หรือทันสมัยอย่างแม่อุไร แต่ควรเป็นผู้หญิงที่มีลักษณะผสมผสานกันระหว่างความเป็นไทยกับความเป็นตะวันตก นั้นก็คือ ศรีสมาน
-อุไร เป็นสาวทันสมัยใจตะวันตก และทำให้ประพันธ์ถูกใจและชื่นชมมาก จึงได้คบหาสมาคมสนิทสนมจนได้แต่งงานกัน หลังจากแต่งงานพฤติกรรมของอุไรก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง อุไรก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่แม่บ้านและข่มขู่สามีดูถูกคนอื่น แม้กระทั่งหลังจากแท้งลูกจนถึงกระทั่งไปข้างแรมบ้านชายอื่น ทำให้ประพันธ์ขอหย่าอุไรจึงไปอยู่กับพระยาตระเวนนคร ซึ่งได้เรียกว่าเป็นชายชู้ ต่อมาได้หวนกลับมาขอคืนดีกับประพันธ์อีกเพราะถูกพระยาตระเวนนครทอดทิ้ง แต่ประพันธ์ปฏิเสธ อุไรจึงกลับไปอยู่บ้านพ่อและแต่งงานกับหลวงพิเศษพานิชพ่อค้าผู้มั่งคั่ง
๒.ฉาก
ในเรื่องนี้เป็นสมัยที่คนไทยโดยเฉพาะคนชั้นสูงได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกใหม่ๆ สภาพบ้านเมืองเริ่มมีความเจริญแบบตะวันตก คือ มีถนนหนทาง มีรถยนต์ ห้างร้าน เกิดขึ้นมาก มีการใช้หนังสือพิมพ์ในการสื่อสาร ภาษาไทยที่มีคำทับศัพท์และมีสำนวนภาษาอังกฤษมาปะปนอยู่ เป็นต้น การอ่านเรื่องหัวใจชายหนุ่ม จึงเท่ากับการเข้าไปมีประสบการย้อนยุคร่วมกับคนในสมัยนั้นอีกด้วย
๓.กลวิธีการแต่ง
หัวใจชายหนุ่ม เป็นนวนิยายขนาดสั้นนำเสนอในรูปแบบจดหมาย นับเป็นการนำเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาในวงวรรณกรรมไทย แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องสมมุติ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้กลวิธีที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง
๔.ทัศนกวี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแสดงพระราชดำริของพระองค์ผ่านทางตัวละครต่างๆ เช่น ทรงให้ประพันธ์แสดงทัศนะประเพณีคลุมถุงชน การแต่งงานกับผู้หญิงต่างชาติ การมีภรรยาหลายคนเป็นต้น แต่ทัศนะที่ทรงนำเสนอผ่านประพันธ์ ก็หาใช่พระราชดำริของพระองค์เสียทั้งหมด เช่น ทัศนะของประพันธ์ต่อการเต้นรำ เป็นทัศนะของชายหนุ่มที่ขาดประสบการณ์ ไม่สุขุม จึงมองสังคมและวัฒนธรรมอย่างฉาบฉวยและไม่ได้เข้าถึงวัฒนธรรมของต่างชาติอย่างแท้จริง
๕.แนวคิดในการแต่ง
ทรงมีพระราชดำริว่า “คนไทยควรจะภูมิใจในวัฒนธรรมไทยไม่ควรหลงนิยมวัฒนธรรมตะวันตกเกินไป จนละเลยความเป็นไทย ควรรู้จักเลือกสรรสิงที่เหมาะสมมาเสริมกับความเป็นไทยให้โดดเด่นยิ่งขึ้น”
นวนิยายเรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นว่า การแต่งงานของหนุ่มสาวที่มาจากการชอบพอกันแต่เปลือกนอก ขาดการรู้จักและเข้าใจกันอย่างแท้จริงย่อมไม่มีทางจีรังยั่งยืนและผู้หญิงที่ชิงสุกก่อนห่ามและใช้เสรีภาพในทางที่ผิดต้องประสบชะตาชีวิตอย่างไร ทั้งสองประการนี้เป็นแนวคิดที่ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ต้องการเสนอ
๖.คุณค่าด้านปัญญาและความคิด
-รอยต่อวัฒนธรรม ในช่วงที่ประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบสมัยใหม่ว่า เราควร
เลือกรับแต่สิ่งที่ดีและรู้จักปรับใช้ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม เพื่อให้สังคมเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง
-ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน การแต่งงานต้องตามใจหนุ่มสาว บิดามารดามีหน้าที่ให้คำแนะนำ สั่งสอน อบรม ให้ลูกสาวและลูกชายเป็นคนดี ส่วนเรื่องความรักเป็นเรื่องส่วนตัวของเขาเอง ถ้ามีพื้นฐานดี ความคิดดีแล้ว การตัดสินใจน่าจะมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด
-การศึกษาดี ช่วยให้คิดดี ประพันธ์ผู้ที่ได้รับการศึกษาจากชาติตะวันตกแล้วมองสังคมไทยในสิ่งที่ไม่เป็นสากล คือ ไม่ชอบเข้าทำงานโดยใช้เส้นสายอยากทำงานโดยใช้ความรู้ความสามารถของตนเอง